หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2554

การพัฒนาของระบบอาวุธปืน 76/62 OTO Melara

บทนำ

กองทัพเรือไทยมีระบบอาวุธปืน 76/62 OTO Melara ประจำการอยู่ในเรือหลวงชุด รัตนโกสินทร์ ตาปี ปัตตานี ราชฤทธิ์ ชลบุรี ล่องลม สัตหีบ ทั้งหมด ๑๘ ลำ มีระบบอาวุธปืนรวม ๒๑ แท่น และในอนาคตจะติดตั้งเพิ่มในเรือที่ ทร. จัดหาใหม่อีก ๒ ลำได้แก่เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งและเรือระบายพลขนาดใหญ่เพิ่มอีก ๒ แท่น ปืน 76/62 OTO Melara กลายเป็นปืนหลักและเป็นที่เชื่อถือของ ทร. ไทย นับตั้งแต่ปืนกระบอกแรกที่ติดตั้งบน ร.ล. ราชฤทธิ์ จนถึงกระบอกล่าสุดที่ติดตั้งบน ร.ล. นราธิวาส ถึงแม้ว่า ทร. ไม่ได้จัดหายุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีในทุกรุ่นอาวุธปืน 76/62 ก็ตาม แต่ก็นับว่าระบบอาวุธปืน 76/62 OTO Melara ของ ทร. มีประวัติคู่ขนานไปกับแนวทางการพัฒนาระบบอาวุธของบริษัท OTO Melara S.p.A. ประเทศอิตาลีเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี

เนื้อเรื่อง

๑.       ประวัติความเป็นมาและแนวคิดในการสร้างปืน 76/62

ปืน 76/62 ถือกำเนิดขึ้นด้วยแนวคิดและความชำนาญในการสร้างปืนของบริษัท OTO Melara S.p.A. ซึ่งก่อตั้งบริษัทได้ครบอายุ ๑๐๔ ปี ในปี ค.ศ. ๒๐๐๙ สำนักงานบริษัท และโรงงานตั้งอยู่ที่เมือง ลาสเปเซีย แคว้น รีกูเรีย ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ปืน 76/62 กระบอกแรกถูกออกแบบสร้างและประสบความสำเร็จจากการทดสอบทดลองในปี ค.ศ. ๑๙๖๐ มีชื่อรุ่นว่า 76/62 MMI ต่อจากนั้นได้เข้าประจำการใน ทร. อิตาลี ปี ค.ศ. ๑๙๖๓ ปืนรุ่นนี้มีกลไก รับ- ส่ง ลูกปืนเพื่อบรรจุและถอนลองเปล่าแทนการใช้พลประจำปืนจึงมีความคล่องตัวสามารถทำการยิงได้รวดเร็วถึง ๖๐ นัด/นาที เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการยิงฉากต่อสู้อากาศยานและเรือผิวน้ำ  แต่กระนั้นตัวปืนยังใช้อุปกรณ์จำกัดมุมยิงแบบโครงเหล็กกั้นรอบป้อมปืนทำให้มีขนาดใหญ่เทอะทะ  และที่สำคัญ อัตราเร็วในการยิงที่หมายถึงความเร็วในการส่งดินระเบิดใส่เรือเป้าหมายยังช้าไปสำหรับการสร้างความรุนแรงในการระเบิดทำลายเป้าหมาย เพราะถึงแม้ลูกปืน 76/62 จะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าถูกยิงเข้าสู่เป้าหมายหลายๆนัดในเวลาอันสั้นการระเบิดจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นปี ค.ศ. ๑๙๗๑ ปืน 76/62 รุ่น Compact ที่หมายถึงเล็กกะทัดรัดได้ถูกออกแบบและสร้างขึ้นด้วยป้อมปืนใหม่แบบกลมเล็กสะดวกในการหันกว่าป้อมรูปเหลี่ยมของ 76/62 MMI ปืนรุ่นนี้มีการติดตั้งอุปกรณ์จำกัดมุมหันอยู่ภายในป้อมปืนไม่เกะกะภายนอก อัตราเร็วในการยิงเพิ่มขึ้นเป็น ๘๕ นัด/นาที เพราะกลไกการบรรจุเล็กลงแต่ทำงานได้เร็วและคล่องตัวมากขึ้น และการพัฒนายังคงมีอย่างต่อเนื่องในหัวข้อของการเพิ่มอัตราเร็วในการยิงขึ้นเป็น ๑๐๐ นัด/นาทีให้กับปืน 76/62 รุ่น Rapid Fire และล่าสุดเพิ่มเป็น ๑๒๐ นัด/นาที ในรุ่น Super Rapid Fire  เมื่อพิจารณาดูแล้วแนวคิดของการสร้างปืน 76/62 อยู่ตรงขนาดที่เล็กแต่มีความสามารถในการทำลายสูงเพราะอัตราเร็วในการยิงที่เป็นผลมาจากความเร็วในการบรรจุลูกปืนและถอนลองเปล่า แต่กลไกที่ซับซ้อนเพราะต้องอัดแน่นในป้อมปืนขนาดเล็กย่อมเสี่ยงในการเกิดความเสียหายได้ง่ายรวมถึงการบาดเจ็บของพลประจำปืนจากอุบัติเหตุภายในป้อมปืน ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ดังนั้นปืน 76/62 จึงถูกสร้างให้มีระบบนิรภัยป้องกันการทำงานผิดพลาดจากการทำงานของตัวปืนหรือความประมาทเผลอเลอของพลประจำปืน รวมถึงควบคุมการทำงานด้วยการ Remote คือสั่งการยิงจากห้องศูนย์ยุทธการไม่ใช้กำลังพลทำงานในป้อมปืน

๒.     แบบรุ่นของปืน 76/62

บริษัท OTO Melara S.p.A. ได้ทำการผลิตปืน 76/62 รวมแล้ว ๕ รุ่น เริ่มตั้งแต่

-          76/62 MMI : Maritime Military Italian อัตราเร็วการยิง ๖๐ นัด/นาที

-          76/62 Compact อัตราเร็วการยิง ๘๕ นัด/นาที

-          76/62 Rapid Fire Modification Kit อัตราเร็วการยิง ๑๐๐ นัด/นาที

-          76/62 Super Rapid Fire อัตราเร็วการยิง ๑๒๐ นัด/นาที

-          76/62 Super Rapid Fire Stealth Shield (ป้อมปืนแบบStealth) อัตราเร็วการยิง ๑๒๐ นัด/นาที

ใน ทร. ไทยมี 76/62 ประจำการอยู่ ๓ รุ่น จำนวนรวม ๒๑ แท่น

ปืน 76/62 Compact  ติดตั้งประจำการอยู่บนเรือชุดเรือหลวง  ตาปี ๒ ลำ  ราชฤทธิ์ ๓ ลำ  ชลบุรี ๓ ลำ  ล่องลม ๓ ลำ สัตหีบ ๓ ลำ รวม ๑๗ กระบอก

ปืน 76/62 Rapid Fire Modification Kit ติดตั้งประจำการอยู่บนเรือชุดเรือหลวง รัตนโกสินทร์ ๒ ลำ รวม ๒ กระบอก

ปืน 76/62 Super Rapid Fire ติดตั้งประจำการอยู่บนเรือชุดเรือหลวง ปัตตานี ๒ ลำ รวม ๒ กระบอก

๓.     วิเคราะห์คุณลักษณะเด่นและข้อด้อยของปืน 76/62

๓.๑ คุณลักษณะเด่นมีดังนี้

๓.๑.๑ ปืน 76/62 ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ ๗.๕ ตัน บรรจุลูกปืนได้ ๘๐ นัด สามารถหันและกระดกปืนได้อย่างรวดเร็วจากกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงที่ประสิทธิภาพและแรงบิดสูง ในทางยุทธการสามารถปรับอัตราเร็วในการยิงปืนได้ตั้งแต่ ๑๐ , ๒๐ , ๔๐ , ๖๐ ไปจนถึง ๘๕ นัด/นาที ในรุ่น Compact  ๑๐๐ นัด/นาที ในรุ่น Rapid Fire และ ๑๒๐ นัด/นาที ในรุ่น Super Rapid Fire ด้วยอัตราเร็วในการยิงที่สูงตามที่กล่าว ทำให้ลำกล้องปืนมีความร้อนสูงตามไปด้วย ปืนจึงถูกออกแบบให้มีระบบระบายความร้อนในลำกล้องปืนด้วยน้ำทะเลเพื่อให้สามารถทำการยิงได้อย่างต่อเนื่องจนหมดลูกปืน

๓.๑.๒ ปืน 76/62 สามารถทำการยิงกับลูกปืนได้หลายชนิด เช่นกระสุนเฉียดระเบิดสำหรับต่อสู้อากาศยาน กับต่อต้านขีปนาวุธ ลูกปืนหน่วงเวลากระทบแตกสำหรับเจาะเกราะทำลายตัวเรือ ลูกกระทบแตกธรรมดาสำหรับยิงเรือและยิงฝั่ง กระสุนนำวิถีความเร็วสูงแบบเฉียดระเบิดที่มีความแม่นยำสูงมากสำหรับต่อต้านขีปนาวุธและอากาศยานความเร็วเหนือเสียง ชนิดลูกปืนตามที่กล่าวสามารถตั้งค่าการทำงานได้จากอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ภายในป้อมปืน  ทำให้ปืน 76/62 มีขีดความสามารถสูงในการระดมยิงฝั่ง การป้องกันตัวระยะใกล้จากภัยคุกคามทางอากาศ และเรือผิวน้ำ

๓.๑.๓  ปืน 76/62 สามารถทำการยิงและควบคุมปืนจากห้องศูนย์ยุทธการโดยส่งสัญญาณคำสั่งการทำงานผ่านตู้ควบคุมปืน (ตู้ CoT. : Caption of Turret อยู่ใต้ดาดฟ้าของป้อมปืน) เพียงที่เดียวเท่านั้น ระบบการควบคุมปืนจึงไม่ซับซ้อน และใช้เวลาแค่ ๒ – ๔ วินาทีในการพร้อมใช้ปืนนับตั้งแต่ ON สวิตช์

๓.๑.๔ ปืน 76/62 ถึงแม้จะเป็นปืนขนาดเล็กแต่ก็มีระบบกลไกการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อน ระบบการทำงานของปืนจึงถูกออกแบบให้มีชุดเซนเซอร์นิรภัยป้องกันการทำงานผิดพลาดที่เกิดจากตัวปืนและความประมาทของพลประจำปืนดังที่กล่าวไว้ในข้อ ๑.  ระบบนิรภัยจะถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในตู้ควบคุมปืน ซึ่งจะทำหน้าที่คอยตรวจและประมวลผลการทำงานของปืนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่จะส่งผลทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบปืน ระบบเซนเซอร์จะส่งสัญญาณพาให้คอมพิวเตอร์เข้าสู่เงื่อนไข (Condition Flow Chart) ล็อคปืนไม่ให้ทำการยิงได้ เซนเซอร์มีอีกชื่อเรียกว่าสวิตช์นิรภัย (Interlock Switch) เปรียบได้เหมือนระบบประสาทและคอมพิวเตอร์เปรียบเหมือนสมองคอยควบคุมการทำงาน เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิด หรือจำกัดความเสียหายไว้ไม่ให้ลุกลามต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่เมื่อยิงปืนแล้วลองลูกปืนเปล่าเกิดขัดข้องชักถอนออกจากรังเพลิงไม่ได้ จึงไม่มีลองเปล่าพุ่งไปกดกระเดื่องเซนเซอร์ สวิตช์ตัวนี้ก็จะไม่ส่งสัญญาณไปที่คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะรับรู้ว่ามีลองเปล่าค้างอยู่ ระบบบรรจุลูกปืนจะหยุดทำงาน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกปืนนัดต่อไปพุ่งเข้าชนลองเปล่าที่ค้างอยู่ในรังเพลิง เพราะหัวลูกปืนอาจกระแทกให้ลูกเลื่อนปืนพังได้ หรือหัวลูกปืนอาจกระแทกลองเปล่าให้ฉีกขาดค้างในรังเพลิง ซึ่งถ้าเกิดเหตุนี้ขึ้นจะแก้ไขข้อขัดข้องยากลำบากมาก เพราะในป้อมปืนพื้นที่แคบมาก

๓.๑.๕ ปืน 76/62 มีป้อมปืนพร้อมกับติดตั้งวงบรรจุลูกปืน (Magazine : เป็นแท่นทรงกระบอกแนวตั้งติดอยู่ใต้ป้อมปืนในห้องเดียวกับตู้ CoT) ที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปืนใหญ่เรือแบบอื่น ป้อมปืนจึงมีความต้องการใช้พื้นที่บนดาดฟ้าเปิดและห้องใต้ดาดฟ้าไม่มากในการติดตั้งปืน อีกทั้งยังสะดวกในการถอดถอนและติดตั้งเมื่อต้องการยกปืนขึ้นจากเรือเพื่อซ่อมคืนสภาพ (Over Hull Maintenance) บนโรงงานของ สพ.ทร. ทำให้ระบบปืน 76/62 เหมาะที่จะใช้งานบนเรือเร็วโจมตีขนาดเล็ก ตั้งแต่เรือไฮโดรฟอยด์ไปจนถึงเป็นปืนประจำเรือพิฆาต

๓.๒ ข้อด้อยมีดังนี้

๓.๒.๑ ระบบการทำงานของปืนที่มีกลไกซับซ้อนทำให้ต้องมีการดูแลบำรุงรักษาอย่างดี การใช้งานที่ต้องการความเชี่ยวชาญและเข้าใจอย่างสูง จากกำลังพลของเรือ ไม่เช่นนั้นแล้วการชำรุดต่างๆจะเกิดลุกลามต่อเนื่องตามระบบการทำงานที่เกี่ยวโยงกัน  รวมถึงขนาดของป้อมปืนที่เล็กและแคบทำให้การซ่อมบำรุงในระดับของเรือค่อนข้างยากลำบาก ยกเว้นเวลาเข้าซ่อมคืนสภาพในโรงงานของ สพ.ทร. จะทำการถอดป้อมปืนที่คลุมออกจึงจะทำงานได้สะดวกขึ้น

๓.๒.๒ ระบบนิรภัยที่กล่าวไปในข้อ ๓.๑.๔ เมื่อเกิดเงื่อนไขที่เสี่ยงต่อความเสียหาย ปืนจะนิรภัยโดยให้หยุดทำงานทันที หลายต่อหลายคนมักจะเข้าใจว่าปืนเกิดเสียบ้าง ปืนมีสภาพไม่สมบูรณ์บ้าง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับนายช่างสรรพาวุธเข้าวิเคราะห์ระบบและแก้ไขข้อขัดข้องแล้ว ส่วนใหญ่เกิดจากการที่กำลังพลไม่เข้าใจดีพอในระบบปืน ในเรื่องของการเตรียมการก่อน ON ระบบปืน หรือการข้ามขั้นตอนการเดินระบบปืน เพราะปืน 76/62 ค่อนข้างมีขั้นตอนการ Operate หลายขั้นตอน ถ้าไม่ได้รับการอบรมมาอาจเกิดปัญหาขึ้นได้

๔.     แบบของลูกปืนหรืออมภัณฑ์ที่มีใช้ รวมถึงการพัฒนาอมภัณฑ์ของบริษัทผู้ผลิตปืน

ปัจจุบันใน ทร. มีลูกปืน 76/62 อยู่ ๓ แบบคือ

๑)    ลูกกระทบแตกธรรมดา ( Impact Fuse) สำหรับยิงเป้าพื้นน้ำหรือยิงฝั่ง

๒)    ลูกแตกอากาศแบบเฉียดระเบิด ( Proximity Fuse) สำหรับยิงเป้าอากาศยาน และต่อต้านขีปนาวุธ

๓)    ลูกฝึกยิงส่องวิถี (Target Practice with Tracer : TP-T)

ลูกปืน 76/62 มีหลายประเทศที่ผลิตจำหน่าย แต่ ทร. ได้จัดซื้อจาก สหราชอาณาจักร อิตาลี และแอฟริกาใต้

ในส่วนการผลิตและการพัฒนาอมภัณฑ์ของปืน 76/62 โดยบริษัท OTO Merala S.p.A. มีอยู่ ๕ แบบ

๑) ลูก HE-MOM : High Explosive Multi Role OTO Ammunition  เป็นหัวลูกปืนทำงานแบบเอนกประสงค์ ทั้งเฉียดระเบิด กระทบแตก และหน่วงเวลาเพื่อระเบิดภายในเป้า ใช้ต่อสู้อากาศยานต่อต้านขีปนาวุธ และต่อสู้เรือผิวน้ำ

๒) ลูก SAPOM : Semi Armor Piercing OTO Ammunition    เป็นหัวแบบกึ่งเจาะเกราะทำงานโดยเจาะโลหะหนาได้ประมาณ ๔๐ มิลลิเมตร แล้วหน่วงเวลาระเบิดภายในเป้า ใช้ต่อต้านเรือผิวน้ำและยิงฝั่ง

๓) ลูก SAPOMER : Semi Armor Piercing OTO Ammunition Extend Range เป็นหัวแบบกึ่งเจาะเกราะเพิ่มระยะยิง ทำงานแบบเดียวกับลูกที่ ๒) แต่พิเศษตรงที่หัวลูกปืนจะเรียวเล็กกว่าแบบอื่นและมีดินขับท้ายลูกปืนเพื่อลดแรงดูดของอากาศด้านท้ายลูกปืนทำให้ยิงได้ไกลขึ้นเป็น ๒๐ กิโลเมตร จากที่ลูกแบบอื่นยิงได้ ๑๖ กิโลเมตร ใช้สำหรับต่อต้านเรือผิวน้ำและยิงฝั่ง

๔) ลูก ART : Ammunition Reduce Time of flight เป็นหัวลูกปืนแบบความเร็วสูง ยิงวิถีตรงลดเวลาโคจรของลูกปืนเพราะลูกปืนทั่วไปจะยิงเป็นวิถีโค้ง ขนาดลูกปืนเป็นแบบ Sub-Caliber คือเส้นผ่าศูนย์กลางหัวลูกปืนจะเล็กกว่าลำกล้อง ทำให้แรงต้านอากาศมีน้อย ความเร็วจึงสูง แต่ต้องมีปลอกประคองการทรงตัว (Sabot) ขณะวิ่งอยู่ในลำกล้องและสลัดปลอกทิ้งเมื่อยิงออกพ้นปากลำกล้อง ทำงานได้ทั้งเจาะเกราะ เฉียดระเบิด ใช้ต่อต้านขีปนาวุธ อากาศยานเรือผิวน้ำและยิงเจาะทำลายเป้าหมายบนฝั่งยิงได้ระยะไกลสุด ๓๐ กิโลเมตรความเร็วเฉลี่ย ๑,๒๐๐ เมตร/วินาที

๕) ลูก DART : Driven Ammunition Reduce Time of flight เป็นลูกปืนนำวิถีลดเวลาโคจร คุณลักษณะเหมือนลูก ART แต่เพิ่มขึ้นตรงที่ลูก DART มีระบบนำวิถี ด้วยการที่ลูกปืนจะคอยขยับปีกปรับแนวการบินให้อยู่ในลำคลื่นวิทยุที่ฉายจากเรือยิงไปยังเป้าหมาย ใช้สำหรับต่อต้านขีปนาวุธพื้นสู่พื้นแบบทั่วไป และแบบที่มีความเร็วเหนือเสียง ยิงได้ระยะไกลสุด ๓๕ กิโลเมตร ความเร็วเฉลี่ย ๑,๒๐๐ เมตร/วินาที

ลูกปืนในแบบที่ ๔) และ ๕) เป็นอีกตัวอย่างในความพยายามเพื่อเอาชนะภัยคุกคามด้วยความเร็วและความแม่นยำจากระบบนำวิถี

๕.     แนวความคิดและความพยายามในการพัฒนาระบบปืน

ปืน 76/62 แก้ปัญหาได้สำเร็จในเรื่องอัตราเร็วการยิง ขนาดของปืน และแบบของลูกปืน แต่ยังคงมีปัญหาในทางยุทธการ เช่น เป้าหมายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็น ขีปนาวุธ อากาศยาน หรือเรือผิวน้ำ ปัญหาจึงตกอยู่ที่ระบบบรรจุลูกปืนที่ต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนลูกปืน และถ้าต้องใช้ลูกเฉียดระเบิดไปยิงเรือหรือยิงฝั่งจะไม่คุ้มค่า อีกทั้งอำนาจการทำลายก็ได้ไม่เต็มที่  ทางบริษัท OTO Melara จึงได้คิดค้นสร้างระบบบรรจุแบบใหม่ที่สามารถเลือกชนิดลูกปืนให้เหมาะสมกับชนิดของเป้าหมาย ระบบบรรจุดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนจากแบบเก่าเป็นแบบใหม่ได้โดยเปลี่ยนเฉพาะชุดวงบรรจุ (Magazine) ไม่ต้องซื้อปืนใหม่ทั้งแท่น

ปัญหาที่ได้รับการแก้ไขอีกข้อหนึ่งคือ ขีปนาวิถีภายใน (Internal Ballistic) ลำกล้องปืนที่มีผลต่อความแม่นยำในการยิง เพราะลูกปืนขณะวิ่งอยู่ในลำกล้องปืนแหวนท้ายลูกปืนจะอัดตัวเบียดไปตามร่องของเกลียวลำกล้องปืนเพื่อกันแก็สที่เผาไหม้ของดินขับไม่ให้รั่ว  ทำให้ลูกปืนถูกบังคับให้หมุนไปตามเกลียวที่บิดไปทางขวา การหมุนทำให้ลูกปืนมีแรงทอร์ค (Torque) แบบลูกข่าง ลูกปืนจึงโคจรได้เที่ยงตรง แต่ผลมีผลข้างเคียงคือการหมุนของลูกปืนจะทำให้ลำกล้องปืนสะบัดไปทางขวาเสมอ ระบบควบคุมการยิงต้องคอยนำกระบอกปืนกลับแนวยิงเดิมตลอดเวลา กระบอกปืนจึงส่ายไปมาด้วยความถี่ค่าต่างๆ ขณะทำการยิง สิ่งที่ตามมาคือความแม่นยำย่อมลดลง โดยปกติปืน 76/62 จะมีความเร็วเฉลี่ยลูกปืนที่ใกล้ปากลำกล้อง ๙๑๐ เมตร/วินาที ดังนั้นปืนรุ่น Super Rapid Fire จึงถูกออกแบบให้มีความเร็วเฉลี่ยที่ใกล้ปากลำกล้องลดเหลือเพียง ๙๐๕ เมตร/วินาที เพื่อลดแรงทอร์ค ทำให้อาการสะบัดลดลง มีความแม่นยำมากขึ้น แต่ระยะยิงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

และในปัจจุบันเพื่อให้รองรับกับเทคโนโลยีล่องหน (Stealth) ป้อมปืนจึงถูกออกแบบสร้างให้มีรูปร่างเป็นเหลี่ยมเป็นมุมเพื่อลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์เมื่อติดตั้งบนเรือรบล่องหน แม้แต่สีทาป้อมปืนก็ต้องเป็นสีชนิดพิเศษที่สามารถดูดกลืนคลื่นเรดาร์ได้บางส่วน

๖.      การซ่อมบำรุงปืน 76/62

ปืน 76/62 เป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือสูงแต่มีความซับซ้อนของกลไกการทำงานมาก  การทดลองการทำงาน และการถอดประกอบเพื่อซ่อมบำรุงต้องใช้เจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญสูงในการทำงาน เพราะหลายจุดในระบบปืนเสี่ยงและง่ายต่อการเกิดความเสียหาย การซ่อมบำรุงก็ต้องได้รับซ่อมทำตามเวลาที่คู่มือ (Maintenance Manual) กำกับไว้  ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับปืน 76/62 ในเรื่องของการซ่อมบำรุงส่วนใหญ่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการลงมือซ่อม แต่มักมีสาเหตุมาจากการไม่เอาใจใส่ดูแล และเรือที่มีปืน 76/62 มักถูกใช้ราชการจนล่วงเลยเวลาหรือหลุดแผนการเข้าซ่อมบำรุงของ อร. และ สพ.ทร ปัญหาจึงเกิดตามมาเสมอเพราะปืนทำงานไม่สมบูรณ์

สรุป

ระบบอาวุธปืนที่มีอยู่ใน ทร. มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา วิเคราะห์ คุณลักษณะของแต่ละแบบรุ่น รวมถึงแนวคิดในการสร้างปืน เพื่อรองรับการใช้งานทางยุทธการ เพราะระบบปืนแต่ละแท่นมีมูลค่าด้านงบประมาณสูง ควรแก่การดูแลรักษาให้มีอายุการใช้ราชการเป็นเวลานาน

ที่มา: Web สามโอ โนว์ฮาว ชาวทดสอบ

บทความอื่นที่่น่าสนใจเกี่ยวกับปืน 76/62 :

การพัฒนา ป.76/62 มม. จาก Compact เป็น Super Rapid
http://otd.ordn.org/index.php?option=com_content&view=article&id=27:-7662-compact-super-rapid&catid=1:2009-12-16-08-08-48&Itemid=17

6 ความคิดเห็น: