หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กองทัพอากาศเตรียมเข้าร่วมการฝึกผสม COPE TIGER 2013


กองทัพอากาศ กองทัพอากาศสิงคโปร์ และกองทัพอากาศสหรัฐฯ เตรียมการฝึกผสม Cope Tiger 2013 โดยมี นาวาอากาศเอก จักรกริช วุฒิกาญจน์ รองเจ้ากรมยุทธการทหารอากาศ ในฐานะ ผู้อำนวยการ กองอำนวยการฝึกผสม โคปไทเกอร์ ๒๐๑๓ และมี Col Ang Kheng Leong Benedict RSAF Exercise Director , Col Douglas James US Exercise Director เป็นผู้อำนวยการฝึกฝ่ายสิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ 
การฝึกโคปไทเกอร์เป็นการฝึกการปฏิบัติการทางอากาศเชิงรุกและเชิงรับด้วยกำลังทางอากาศขนาดใหญ่ การฝึกยุทธวิธีการรบระหว่างเครื่องบินต่างแบบ โดยเฉพาะเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูง และการโจมตีทางอากาศ ต่อเป้าหมายภาคพื้น ที่มีการต่อต้านจากอาวุธภาคพื้นจำลอง (Simulated Ground Threat) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการ ทางอากาศ และประสบการณ์ของนักบิน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการบินในการปฏิบัติการทางอากาศผสมระหว่างกองทัพอากาศทั้งสามชาติและนาวิกโยธินสหรัฐฯ และยังได้มีโอกาสเรียนรู้จากประเทศที่มีประสบการณ์ในการรบจริงมียุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและยุทธวิธีใหม่ๆในการรบทางอากาศ เพื่อนำมาพัฒนากองทัพอากาศของไทย ในอนาคตต่อไป สำหรับการฝึก “โคปไทเกอร์ ๒๐๑๓” กำหนดการฝึกและการประชุมต่าง ๆ ดังนี้
- การประชุมวางแผนการขั้นต้น (IPC) ณ จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๗ – ๒๑ กันยายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา 
- การประชุมวางแผนขั้นสุดท้าย (FPC) ณ Multinational Operations and Exercises Center (MOEC) ฐานทัพเรือ Changi ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ 
- การฝึกภาคที่บังคับการ (COMMAND POST EXERCISE, CPX) ณ Multinational Operations and Exercises Center (MOEC) ฐานทัพเรือ Changi ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ 
- การบินเดินทางเยือน ทอ.สิงคโปร์ (GOODWILL VISIT) โดยจัดเครื่องบินขับไล่ฝึกแบบที่ ๑ (L-39) จากฝูงบิน ๔๑๑ กองบิน ๔๑ จำนวน ๒ เครื่อง พร้อมนักบินและเจ้าหน้าที่ ในระหว่างวันที่ ๑๐ – ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ ณ ฐานทัพอากาศ PAYA LEBAR ประเทศสิงคโปร์ 
- พิธีเปิดการฝึกฯ ในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ โดย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ จะร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดฯ ณ ฐานทัพอากาศ PAYA LEBAR ประเทศสิงคโปร์ 
- การฝึกภาคปฏิบัติการบิน (FIELD TRAINING EXERCISE ; FTX) กำหนดจัดระหว่างวันที่ ๑๑ – ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖ โดยใช้พื้นที่การฝึก ณ กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา, กองบิน ๒ จังหวัดลพบุรี, กองบิน ๒๓ จังหวัดอุดรธานี, สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และสนามฝึกทางยุทธวิธีกองทัพบก อำเภอม่วงค่อม จังหวัดลพบุรี
- พิธีปิดการฝึกฯ ในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ กองบิน ๑ จังหวัดนครราชสีมา 
สำหรับการฝึกภาคปฏิบัติการบิน (FTX) ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖ นับเป็นการปฏิบัติการทางอากาศ ที่ใหญ่ที่สุดในแถบภูมิภาคนี้ มีการวางแผนการบินกว่า ๑,๑๙๘ เที่ยวบิน ประกอบด้วย การบินตอบโต้ทางอากาศเชิงรุก การบินตอบโต้ทางอากาศเชิงรับ, การบินสนับสนุนทางอากาศโดยใกล้ชิด, การขัดขวางทางอากาศ, การลำเลียงทางยุทธวิธี, การค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบ โดยมีเครื่องบินเข้าร่วมการฝึกประกอบด้วย
กองทัพอากาศ จัดระบบต่อสู้อากาศยานแบบต่างๆ จำนวนหนึ่ง และอากาศยานแบบต่างๆ รวม ๓๕ เครื่อง 
กองทัพอากาศสิงคโปร์ จัด ระบบต่อสู้อากาศยาน จำนวนหนึ่ง พร้อมด้วย อากาศยานแบบต่างๆ เข้าร่วมการฝึก ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่แบบ F-16 C/D (๑๒ เครื่อง), F-5 S/T (๖ เครื่อง), เครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนแบบ G-550 AEW (๑ เครื่อง), เครื่องบินลำเลียงและเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศแบบ KC-130 (๑ เครื่อง), เฮลิคอปเตอร์ขนส่งแบบ CH-47 (๑ เครื่อง) และเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ AH-64 (๓ เครื่อง)
กองทัพอากาศ และกองทัพเรือสหรัฐฯ จัดอากาศยานเข้าร่วมการฝึก ประกอบด้วย เครื่องบินขับไล่แบบ F-15C (๑๒ เครื่อง), F-18E (๘ เครื่อง), เครื่องบินโจมตีแบบ A-10C (๖ เครื่อง), เครื่องบินลำเลียงแบบ HC-130 (๑ เครื่อง) C-130H (๓ เครื่อง), C-17A (๒ เครื่อง) และเฮลิคอปเตอร์แบบ HH-60 (๒ เครื่อง) 
นอกจากการปฏิบัติการฝึกของกำลังทางอากาศ ยังมีการปฏิบัติช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ดังนี้
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ โรงเรียนบ้านพะไล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ โรงเรียนบ้านโปร่งยอ อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ โรงเรียนโนนสูงพิทยาคาร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

เมื่อเอ๋ยชื่อ COPE TIGER ขึ้นมา ในวงการทหารที่เกี่ยวข้องกับการบินหรือการใช้กำลังทางอากาศ ทั่วโลก เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะนี่คือการฝึกการปฏิบัติการทางอากาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแถบนี้เลยทีเดียว แล้วการฝึกนี้มันมีความเป็นมาอย่างไรกันหละ 



ประวัติความเป็นมาสำหรับความเป็นมาของการฝึก COPE TIGER นั้น ในอดีตกองทัพอากาศได้จัดฝึกผสม AIR THAISING ร่วมกับ กองทัพอากาศสิงคโปร์ ณ กองบิน ๑ เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ โดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ กล่าวคือ การฝึกที่บังคับการ (Command Post Exercise,CPX) ทำการฝึก ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยกองทัพอากาศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ ส่วนการฝึกภาคปฏิบัติการบิน (Air Maneuvering Exercise, AMX) จัดขึ้นในประเทศไทย กองทัพอากาศเป็นเจ้าภาพ ได้ทำการฝึกมาจนถึงปี ๒๕๓๗ รวมทั้งหมด ๑๒ ครั้ง ขณะเดียวกันกองทัพอากาศได้ส่งกำลังเข้าร่วมการฝึกหลายฝ่าย COPE THUNDER ร่วมกับกองทัพอากาศสหรัฐ ฯ และกองทัพอากาศมิตรประเทศอื่น ๆ ณ ฐานทัพอากาศ CLARK ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประจำทุกปี
ขณะเดียวกันในปี ๒๕๓๕ เกิดสถานการณ์ด้านการเมืองและภัยธรรมชาติในประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้สหรัฐ ฯ ไม่สามารถรักษาฐานทัพอากาศ CLARK ไว้ได้เป็นเหตุให้การฝึก COPE THUNDER ไม่สามารถกระทำต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้ สหรัฐฯ (ปัจจุบันได้ย้ายไปทำการฝึกในประเทศสหรัฐฯ โดยล่าสุดกองทัพอากาศไทยได้ส่งเพียงนักบิน เข้าร่วมสังเกตการณ์และฝึก CPX เท่านั้น ยังไม่กลับมาดำเนินการฝึกภาคปฏิบัติโดยใช้เครื่องบินขับไล่เช่นแต่เก่าก่อน) แต่เมื่อแรกเริ่มที่ย้ายออกจากฟิลิปปินส์นั้นสหรัฐฯได้แสวงหาพื้นที่ในภูมิภาคนี้ เพื่อฝึกทดแทน และพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพสูงสำหรับการฝึกขนาดใหญ่ และจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๙มิถุนายน ๒๕๓๖ ได้อนุมัติให้มีการฝึกพหุภาคี หรือ การฝึกหลายชาติ (MULTILATERAL EXERCISE) ระหว่างกองทัพอากาศไทย กองทัพอากาศสิงคโปร์ กองทัพอากาศและนาวิกโยธินสหรัฐฯ โดยได้จัดการฝึกครั้งแรกในปี ๒๕๓๘ ใช้รหัสการฝึกว่า COPE TIGER 95 ใช้พื้นที่กองบิน ๑ นครราชสีมา เป็นหลัก และดำเนินการฝึกมาจนถึงปัจจุบัน

การฝึก COPE TIGER เป็นการฝึกใช้กำลังทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในแถบภูมิภาคนี้ มีเครื่องบินเข้าร่วมการฝึกเป็นจำนวนมาก มีการวางแผนเที่ยวบิน กว่า ๑,๐๐๐ เที่ยวบิน กำลังทางอากาศของประกอบด้วยเครื่องบินขับไล่, เครื่องบินโจมตีแบบ , เฮลิคอปเตอร์ และช่วยชีวิตแบบ, เครื่องบินตรวจการณ์และแจ้งเตือน, เครื่องบินเติมเชื้อเพลิงในอากาศ และเครื่องบินปฏิบัติการทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมการฝึกทั้งหมดวางกำลัง ณ กองบิน ๑ นครราชสีมา , กองบิน ๒๓ อุดรธานี และส่วนหน่วยต่อสู้อากาศยานของ กองทัพอากาศ และกองทัพอากาศสิงคโปร์ วางกำลัง ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จ.ลพบุรี
การฝึกโคปไทเกอร์เป็นการฝึกการปฏิบัติการทางอากาศเชิงรุกและเชิงรับด้วยกำลังทางอากาศขนาดใหญ่ การฝึกยุทธวิธีการรบระหว่างเครื่องบินต่างแบบ โดยเฉพาะเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูง และการโจมตีทางอากาศ ต่อเป้าหมายภาคพื้น ที่มีการต่อต้านจากอาวุธภาคพื้นจำลอง (Simulated Ground Threat) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการปฏิบัติการทางอากาศ และประสบการณ์ของนักบิน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเกี่ยวกับการบินในการปฏิบัติการทางอากาศผสมระหว่างกองทัพอากาศทั้งสามชาติและนาวิกโยธินสหรัฐฯ และยังได้มีโอกาสเรียนรู้จากประเทศที่มีประสบการณ์ในการรบจริงมียุทโธปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและยุทธวิธีใหม่ๆ ในการรบทางอากาศ เพื่อนำมาพัฒนากองทัพอากาศของไทยในอนาคตต่อไป / ที่มาCope Tiger 2013








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น